วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

Utilities 2002 โปรแกรมคู่บารมี PC ไม่มีไม่ได้!

 

ถ้าเป็นมือใหม่หัดเล่นส่วนมากจะนิยมแก้ปัญหาด้วยการยกเครื่องไปให้ร้านซ่อม โดยไม่ได้วิเคราะห์ก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทั้งๆ ที่ถ้าอาการผิดปกติไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดอุปกรณ์ภายในเครื่อง (Hardware) ชำรุด เราก็สามารถตรวจสอบ และแก้ไขความผิดปกติของเครื่องได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยโปรแกรมประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่ายูทิลิตี้ (Utilities)

ยูทิลิตี้ คำนี้พูดบ่อย แต่ไม่ค่อยเข้าใจ
โดยเฉพาะมือใหม่หัดใช้คอมพ์ส่วนมาก พอเจอคำศัพท์แปลกๆ ก็มักจะไม่ค่อยใส่ใจใฝ่รู้…ส่วนมากจะใช้วิธีละเอาไว้ในฐานที่ (เกือบ) เข้าใจเอาไว้ก่อน ไม่เชื่อลองถามตัวเองดูสิครับว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่าง แอพพลิเคชัน (Application), ยูทิลิตี้ (Utility) และแอ็กเซสซอรี่ (Accessories) ?

เจอคำถามที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างจริงจังแบบนี้เข้า ส่วนใหญ่ก็จะตอบแบบกำกวมรวมกำปั้นทุบดินเข้าไว้ก่อน ว่าไอ้เจ้าทั้งหมดทั้งหลายที่ว่ามาก็คือ “โปรแกรม” นั่นเอง

เฮ้อ! ตอบแบบนี้ไม่ผิดหรอกครับ แต่มันตะขิดตะขวงใจ เพราะโปรแกรมทั้งสามประเภทที่ว่ามา ล้วนแต่มีเอกลักษณ์ และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน มิฉะนั้นฝรั่งเขาคงไม่แบ่งแยกเป็นประเภทให้เมื่อยสมองหรอกขอรับ

แอพพลิเคชัน หรือที่นักภาษาศาสตร์สติเฟื่องบ้านเราให้คำจำกัดความไว้ว่า "โปรแกรมประยุกต์” นั้น หมายถึงซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับงานเฉพาะทาง เช่น พวกโปรแกรมพิมพ์เอกสาร (Word Processing) โปรแกรมกราฟิก เป็นต้น ส่วนแอ็กเซสซอรี่ ก็มีความหมายเฉพาะตัวที่ฟังดูน่ารักน่าชังเหลือเกินว่า “โปรแกรมกระจุ๊กกระจิ๊ก” เช่น พวกเครื่องคิดเลข, โปรแกรมนาฬิกาปลุก หรือโน้ตแพด (Notepad) อะไรทำนองนี้ และสำหรับยูทิลิตี้ ซึ่งถือเป็นพระเอกในดวงใจของผม ก็คือโปรแกรมที่คอยเสริมการทำงาน เพื่อช่วยให้เราจัดการเรื่องวุ่นๆได้สะดวก ง่ายดายมากขึ้น ดังนั้น โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดจึงไม่จัดเป็นยูทิลิตี้ และ WinZip ก็ไม่ใช่แอพพลิเคชัน

ปัจจุบันมียูทิลิตี้อยู่หลายประเภท บางตัวทำหน้าที่คอยดูแลรักษาเครื่องคอมพ์แทนเรา ในขณะที่บางตัวก็ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกในการใช้งาน โปรแกรมเพิ่มความเร็วในการท่องอินเทอร์เน็ตต่างๆ นานา นั่นก็ใช่ยูทิลิตี้อีกเหมือนกัน...เอาละสิ มีเยอะแยะจนปวดหัวแบบนี้แล้วจะเลือกตัวไหนมาใช้กันดีหว่า?

ยูทิลิตี้ดาวเด่นในแต่ละด้าน
เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์แสนรักของคุณๆ ต้องรกหรือสกปรกไปด้วยยูทิลิตี้จนมากมายเกินความจำเป็น จึงขอถือโอกาสนี้แนะนำโปรแกรมตัวเด็ด ที่บรรดาเกจิเซียนคอมพ์จากทั่วทุกสารทิศต่างยกย่องให้เป็นโปรแกรมที่ควรค่าแก่การติดตั้งเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง

Norton Utilities 2002 : อรรถประโยชน์แบบสากกะเบือยันเรือรบ
ยูทิลิตี้ตัวแรก ถือเป็นชุดโปรแกรมสารพัดประโยชน์ที่ควรมีติดเครื่องเอาไว้ เสมือนเป็นตู้ยาสามัญประจำเครื่องคอมพ์ เพราะประกอบไปด้วยยา (โปรแกรม) หลายขนาน ที่จะช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และเสริมสร้างสมรรถภาพทางความเร็ว (รู้นะ…คิดอะไรอยู่) ให้กับคอมพิวเตอร์แสนรักของคุณๆ ได้อย่างชะงัดนักแล โดยในตัวของ Norton Utilities 2002 นั้นจะประกอบไปด้วยโปรแกรมต่างๆ ดังนี้
  • Speed Disk
    เห็นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า นี่คือโปรแกรมสำหรับจัดระเบียบสังคม เฮ้ย! จัดระเบียบข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ เหมือนกับ Disk Defragment ที่อยู่ในวินโดวส์นั่นเอง เพียงแต่เจ้าโปรแกรมตัวนี้จะบอกสถานะระหว่างทำงานได้ดีกว่ามาก
  • Norton WinDoctor
    โปรแกรมสำหรับช่วยแก้ปัญหาของวินโดวส์ ซึ่งจะทำงานโดยอัตโนมัติ หากพบความผิดปกติอะไรก็จะรายงานให้ผู้ใช้ทราบ พร้อมทั้งบอกวิธีแก้ไขให้เสร็จสรรพ ยิ่งถ้าใครเป็นมือใหม่ซิงๆ แค่กระดิกนิ้วคลิ้กเมาส์เพียงไม่กี่ครั้ง คุณหมอ Norton คนนี้ ก็จะลงมือแก้ปัญหาแทนคุณให้ทันที
  • Norton Disk Doctor
    เป็นเครื่องมือสำหรับตรวจสอบ และแก้ปัญหาที่เกิดกับแผ่นดิสก์หรือฮาร์ดดิสก์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือโปรแกรม Scandisk ในแบบฉบับของ Norton นั่นเอง ความสามารถของเจ้าโปรแกรม NDD ตัวนี้ก็จัดว่าไม่ธรรมดาเลยขอรับ เพราะสามารถตรวจสอบโครงสร้างของฮาร์ดดิสก์ และทำการซ่อมแซมข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้โดยอัตโนมัติ หากเจอปัญหาหนักๆ เหมือนวันมามาก เช่น พื้นผิวของฮาร์ดดิสก์บกพร่อง มันก็จะทำเครื่องหมายเอาไว้ว่าเป็น Bad Cluster เพื่อป้องกันไม่ให้โปรแกรมอื่นๆ เข้ามาใช้งานพื้นที่ส่วนนี้ แหม…แสนรู้จริงๆ
  • Norton System Doctor
    ชื่ออาจละม้ายคล้ายคลึงกับโปรแกรมตัวก่อนหน้า แต่หน้าที่ของเจ้าโปรแกรมตัวนี้จะมีขอบเขตที่กว้างกว่าพอสมควร เนื่องจากต้องทำหน้าที่ตรวจเช็กทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่อยู่ในเครื่องของคุณ เพื่อดูว่ายังมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำดีๆ (เป็นภาษาอังกฤษ) เพื่อให้คุณปรับแต่งคอมพิวเตอร์ให้แรงสะใจ เหมือนตอนซื้อเครื่องมาใหม่ๆ อีกด้วย
  • The Norton Protected Recycle Bin
    เป็นเครื่องมือที่ช่วยคุณบริหารและจัดการในส่วนของ Recycle Bin เพิ่มความซับซ้อนของหลักการทำงาน Recyble Bin เดิม อย่างเช่น การจัดเก็บไฟล์ที่มีชื่อเดียวกัน, การอ้างถึงวันที่ในการลบข้อมูลเพื่อกู้ไฟล์เหล่านั้นกลับคืนมา เป็นต้น
  • The UnErase
    โปรแกรมตัวนี้ดูเผินๆ อาจจะคิดว่าทำงานเหมือนกันกับ Recycle Bin ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีส่วนคล้ายกันเลย เพราะโปรแกรมตัวนี้จะทำการกู้ไฟล์ที่โดนลบไปจากฮาร์ดดิสก์และ Recycle Bin แล้ว กลับคืนมา โดยมีข้อแม้ว่าเนื้อที่เดิมที่ใช้เก็บไฟล์ดังกล่าว จะต้องยังไม่โดนเขียนข้อมูลใหม่ทับลงไป ในขณะที่ Recycle Bin จะทำการย้ายไฟล์ที่เราสั่งลบ ไปไว้ในโฟล์เดอร์ของตัวเองแทน หน้าจอของ Norton System Doctor รายงานสถานะของเครื่องแบบละเอียดยิบ

  • 0 ความคิดเห็น: